Incoterms (International Commercial Terms)
คือ เงื่อนไขทางการค้า หรือ ข้อตกลงทางการค้าที่นานาประเทศยอมรับ โดยได้กำหนดถึงความรับผิดชอบของผู้ส่งออกหรือผู้ขาย และผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อ รวมถึงผู้จัดส่ง เช่น เจ้าของเรือ ฯลฯ เอาไว้ด้วย
ในการค้าระหว่างประเทศนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ตั้งแต่เริ่มเจรจา จนถึงการเสนอราคาขาย คือ Incoterms ซึ่งมีผลต่อต้นทุน, ความรับผิดชอบในการจัดส่ง, การประกันภัย, และภาษีต่างๆ ที่จะตามมา
Incoterms ได้ถือกำเนิดขึ้น ในปี ค.ศ. 1936 โดยหอการค้านานาชาติ (ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะจัดให้มีกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศขึ้นมาสำหรับการตีความเงื่อนไขทางการค้า เพื่อหลีกเลี่ยงหรืออย่างน้อยที่สุดลดความไม่แน่นอนของการตีความเงื่อนไขดังกล่าวที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ จนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาษาทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในทั่วทุกมุมโลก
กว่า 70 ปีที่ Incoterms ได้ถูกนำมาใช้และได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นระยะๆ อยู่เรื่อยมา เพื่อให้ทันต่อพัฒนาการด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้มีการขยายตัวของเขตเสรีทางศุลกากร (Customs-free Zones) การดำเนินธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งปัจจุบันรูปแบบของ Incoterms มีทั้งหมด 13 รูปแบบได้แก่
1. EXW - Ex Warehouse (ระบุต่อท้ายด้วยสถานที่ของผู้ขาย)
เช่น Ex Warehouse : Bang-na ผู้ขายรับภาระน้อยที่สุด ผู้ซื้อต้องรับภาระมาขนส่งจากคลังสินค้าของผู้ขายหรือสถานที่ที่ผู้ขายระบุ ใช้ได้กับการขนส่งได้หลายรูปแบบ
2. FCA - Free Carriage (ระบุต่อท้ายด้วยที่อยู่ผู้ขนส่งของผู้ซื้อ ตามที่ผู้ซื้อระบุไว้)
เช่น FCA : นิ่มซี่เส็ง พุทธมณฑล ผู้ขายรับภาระนำของไปส่งให้ผู้ขนส่งที่ผู้ซื้อระบุ เป็นการส่งภายในประเทศ ใช้ได้กับการขนส่งได้หลายรูปแบบ
3. FAS – Free Alongside Ship (ระบุต่อท้ายถึงท่าเรือต้นทางที่ให้ส่งของ)
เช่น FAS:Bangkok Port ผู้ขายต้องนำสินค้าไปส่งมอบไว้ ณ ท่าเรือที่ระบุไว้เท่านั้น หากต้องมีพิธีการส่งออก การขอใบอนุญาตส่งออก ค่าภาษีส่งออก เป็นภาระของผู้ซื้อ และผู้ซื้อต้องจัดหาระวางเรือ และประกันภัยเองด้วย ใช้สำหรับการขนส่งทางทะเลและทางน้ำ
4. FOB – Free On Board (ระบุต่อท้ายถึงท่าเรือต้นทางที่ให้ส่งของ)
เช่น FOB : Bangkok Port เหมือนกับ FAS จะต่างกันตรงที่ผู้ขายรับภาระในเรื่องของใบอนุญาตส่งออก ค่าภาษีส่งออก พิธีการส่งออก ใบรับลงเรือ Clean on Board ให้ผู้ซื้อด้วย แต่ผู้ซื้อยังต้องจัดหาระวางเรือ และประกันภัยเอง ใช้สำหรับการขนส่งทางทะเลและทางน้ำ
5. CFR, C&F – Cost and Freight (ระบุต่อท้ายถึงท่าเรือปลายทาง ของผู้ซื้อ)
เช่น CFR : Ningbo Port ผู้ขายรับภาระจัดการจนกระทั่งสินค้าอยู่บนเรือและรวมค่าขนส่งถึงท่าเรือปลายทาง แต่ไม่รวมถึงค่าประกันภัยและไม่รวมค่าใช้จ่ายในการนำขึ้นจากเรือที่ปลายทาง ใช้สำหรับการขนส่งทางทะเลและทางน้ำ
6. CIF – Cost Insurance and Freight (ระบุต่อท้ายถึงท่าเรือปลายทาง ของผู้ซื้อ)
เช่น CIF : Tokyo Port ผู้ขายมีภาระเหมือน CFR แต่ผู้ขายต้องรวมถึงการจัดทำประกันภัยให้ด้วยโดยผู้ซื้อรับภาระพิธีการนำเข้า ค่าใช้จ่ายนำของขึ้นจากท่าเรือปลายทาง ใช้สำหรับการขนส่งทางทะเลและทางน้ำ
7. CPT – Carriage Paid To (ระบุต่อท้ายด้วยที่อยู่ผู้ขนส่งของผู้ซื้อ ตามที่ผู้ซื้อระบุไว้)
เช่น CPT : นิ่มซี่เส็ง รังสิต ผู้ขายหมดภาระเมื่อนำสินค้าส่งมอบให้กับผู้ขนส่งรายแรก ณ สถานที่ที่ผู้ซื้อระบุ ต่างกับ FCA ตรงที่หากต้องมีใบอนุญาตส่งออก ค่าภาษีส่งออก พิธีการส่งออกเป็นภาระของผู้ขาย ใช้ได้กับการขนส่งได้หลายรูปแบบ
8. CIP – Carriage and Insurance Paid To (ระบุต่อท้ายด้วยที่อยู่ผู้ขนส่งของผู้ซื้อ ตามที่ผู้ซื้อระบุไว้),
เช่น CIP : นิ่มซี่เส็ง รังสิต ผู้ขายมีภาระเหมือนกับ CPT และรวมถึงการทำประกันภัยขนส่ง ใช้ได้กับการขนส่งได้หลายรูปแบบ
9. DAF – Delivery at Frontier (ระบุต่อท้ายด้วยชื่อด่านชายแดน ตามที่ผู้ซื้อระบุไว้)
เช่น DAF : Rantou Malaysia ผู้ขายมีภาระส่งมอบสินค้า ณ ชายแดนในฝั่งผู้ซื้อ ผู้ซื้อรับมอบสินค้าแล้วผ่านพิธีการนำเข้าประเทศเอง ใช้ได้กับการขนส่งได้หลายรูปแบบ
10. DES – Delivery Ex Ship (ระบุต่อท้ายถึงท่าเรือปลายทาง ของผู้ซื้อ)
เช่น DES : Hong Kong Port ผู้ขายรับภาระเหมือน CIFแต่รวมค่าใช้จ่ายในการนำของขึ้นจากเรือ ณ ท่าเรือปลายทางด้วย ใช้สำหรับการขนส่งทางทะเลและทางน้ำ
11. DEQ – Delivery Ex Quay (ระบุต่อท้ายถึงท่าเรือปลายทาง ของผู้ซื้อ)
เช่น DEQ : Hong Kong Port ผู้ขายรับภาระเหมือน CIF แต่รวมค่าใช้จ่ายในการนำของขึ้นจากเรือ ณ ท่าเรือปลายทาง และรวมค่าขนส่งจากข้างเรือเข้าถึงบริเวณกองสินค้าชั่วคราว ใช้สำหรับการขนส่งทางทะเลและทางน้ำ
12. DDU – Delivery Duty Unpaid (ระบุต่อท้ายถึงสถานที่ปลายทาง ของผู้ซื้อ)
เช่น DDU : Hong Kong Port ผู้ขายรับภาระเหมือน CIF แต่รวมค่าใช้จ่ายในการนำของขึ้นจากเรือ ณ ท่าเรือปลายทาง รวมค่าขนส่งจากข้างเรือเข้าถึงบริเวณโกดังสินค้า และรวมค่าเก็บรักษาสินค้าในโกดังของท่าเรือด้วย แต่ไม่รวมภาระภาษีนำเข้าและพิธีการนำเข้า ใช้ได้กับการขนส่งได้หลายรูปแบบ
13. DDP – Delivery Duty Paid (ระบุต่อท้ายถึงสถานที่ที่ผู้ซื้อกำหนด)
เช่น DDP : 1 Queen Rd., Hong Kong ผู้ขายรับภาระมากที่สุด รวมค่าใช้จ่ายและภาษีทั้งหมดจนกว่าจะได้ส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ จุดที่ได้ระบุไว้ ณ ประเทศปลายทาง ใช้ได้กับการขนส่งได้หลายรูปแบบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น